วันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2550

วัฒนธรรมทางสายตา การก้าวผ่านจากภาษาเขียนไปสู่ภาษาภาพ

วันนี้ขอเปลี่ยนเรื่องเบี่ยงประเด็นจาก random มาทางภาษาภาพ (ซะบ้าง) นัยว่าเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศ ไม่สุดขั้วสุดโต่งไปทางเดียว ว่าแล้วก็โต้กระแสคลื่นอินเตอร์เน็ต search ไปพบข้อเขียนเรื่อง "กระแส K-POP เกาหลีฟีเวอร์ในงานภาพยนตร์ ๑ : บทนำเกี่ยวกับภาพยนตร์" โดย มาลิน ธราวิจิตรกุล : นักศึกษาปริญญาโทหลักสูตรสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ มช. จาก Blog http://saranakasnowman.spaces.live.com ส่วนที่ว่าจะเกี่ยวข้องและมีประโยชน์ต่อนักศึกษาวิชาออกแบบหรือไม่ อย่างไร เห็นทีต้องขอให้อ่านไปพิจารณาไปนะครับ

แนวคิดเกี่ยวกับการศึกษาสื่อ และการสื่อความหมาย

หลักการเรื่องภาพที่มีส่วนสำคัญต่อการทำความเข้าใจของมนุษย์ สอดคล้องกับแนวคิดในเรื่องของการศึกษาเกี่ยวกับสื่อ (Media studies) ที่ว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมทางสายตา (Visual Culture) ดังที่ นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนไว้ในคำนำหนังสือเรื่อง "มองหาเรื่อง: วัฒนธรรมทางสายตา" ดังนี้

ภาพเป็นการสื่อสารที่มีความสำคัญที่สุดของโลกยุคหลังสมัยใหม่ แม้ว่าภาพอาจไม่ได้เข้ามาแทนที่ภาษา (คำพูดและตัวหนังสือ) ซึ่งเป็นวิธีการสื่อสารที่มีความสำคัญที่สุดในโลกยุคสมัยใหม่ …ความต่างของภาพในโลกยุคสมัยใหม่กับหลังสมัยใหม่อยู่ที่ว่า ในโลกยุคสมัยใหม่ ภาพถูกถือว่าเป็นตัวแทนของความจริง ในขณะที่โลกยุคหลังสมัยใหม่ถือว่าภาพก็เป็นเหมือนความเรียงหรือนวนิยาย คือมีความหมายที่ผู้สร้างใส่ลงไว้ โดยไม่เกี่ยวกับวัตถุที่ปรากฏในภาพแต่อย่างเดียว

ความหมายที่แฝงไว้ในภาพนั้นจะสื่อถึงผู้อื่นได้ ก็ต้องอาศัยกระแสของความคิด, ขนบธรรมเนียม, ค่านิยม, ความรู้ความเข้าใจ, ฯลฯ ที่มีอยู่ในสังคมเป็นฐาน ไม่ต่างจากกาพย์กลอนหรือวรรณกรรมก็ต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้เป็นฐานในการสื่อความหมายเช่นกัน พูดอีกอย่างหนึ่ง การสื่อความหมายย่อมต้องอาศัยวัฒนธรรมเป็นฐานในการสื่อ

ในทางกลับกัน การเข้าถึงความหมายของภาพหรือวรรณกรรมจึงต้องอาศัยวัฒนธรรมเช่นเดียวกัน ผู้"อ่าน"ต้องเข้าถึงวัฒนธรรมของสังคมที่สร้างภาพหรือวรรณกรรมนั้นๆ ขึ้นมาเพียงพอ จึงสามารถจับความหมายที่แฝงอยู่ได้ ด้วยเหตุดังนั้น การวิจารณ์หรือการรู้ทันความหมายที่แฝงอยู่ในภาพจึงเรียกว่า"วัฒนธรรมทางสายตา" อันเป็นศาสตร์ที่พัฒนาขึ้นจากหลายสาขาวิชา และกำลังจะกลายเป็นศาสตร์แขนงใหม่ของวิชาการในโลกยุคหลังสมัยใหม่

ท่ามกลางการสื่อความด้วยภาพของโลกปัจจุบัน ความสามารถในการ"อ่าน"ภาพจึงมีความสำคัญสำหรับผู้คนในโลกยุคนี้ อย่างเดียวกับความสามารถในการ"อ่านออกเขียนได้"กับภาษา - ไม่ว่าจะเป็นคำพูดหรือข้อเขียน - เคยมีความสำคัญสูงสุดในโลกยุคสมัยใหม่มาแล้ว

นอกจากนี้ สมเกียรติ ตั้งนโม เคยพูดเอาไว้ในบริบทสังคมไทยว่า สมัยก่อนการเดินทางในสังคมเรามักใช้วิธีการเดิน หรือถีบรถจักรยาน ดังนั้นวัฒนธรรมแบบ Text culture จึงเหมาะกับการเคลื่อนที่ของผู้คนในสมัยนั้น แต่เมื่อมีการผลิตรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ สังคมได้ปรับการเคลื่อนที่ของตนเองให้เร็วขึ้น การสื่อสารโดย text culture จึงไม่เอื้อต่อการสื่อสารอีกต่อไป ดังนั้น ความสำคัญของภาพจึงได้เข้ามาแทนที่ เพื่อสื่อกับผู้บริโภคได้ในเวลาอันรวดเร็ว เป็นวัฒนธรรมแบบใหม่ ที่เปลี่ยนตามเงื่อนไขหรือบริบทสังคมที่ที่มีการปรับเปลี่ยนและเคลื่อนตัวไป (www.tja.or.th, 2006)

กระแสโลกอุตสาหกรรมการผลิต ที่ใช้สื่อในการส่งผ่านข้อมูลมหาศาล เพื่อกระตุ้นให้เกิดการบริโภคที่ไม่สิ้นสุด ประกอบกับจังหวะชีวิตที่เร็วขึ้นของมนุษย์ จากพัฒนาการด้านการสื่อสารคมนาคม ระบบทุนนิยมจึงต้องไล่ตามวงจรชีวิตมนุษย์ที่มีการรับรู้แบบจำกัดลงให้ทัน เพื่อส่งสารให้ได้มากที่สุดในเวลาที่จำกัด การส่งสารผ่านตัวหนังสือในแบบเดิมจึงไม่เอื้อกับชีวิตมนุษย์ในรูปแบบใหม่ ภาษาภาพจึงเป็นอีกทางเลือกที่น่าจับตามองในการส่งสารถึงผู้รับในเวลาที่จำกัด

และจากข้อมูลที่นำเสนอไปแล้วเกี่ยวกับการที่ภาพเป็นองค์ประกอบหลักในการทำความเข้าใจของมนุษย์ ซึ่งทำให้มนุษย์สามารถทำความเข้าใจได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นเมื่อผ่านภาพ ด้วยเหตุนี้วัฒนธรรมทางสายตา (Visual Culture) จึงเข้ามามีบทบาทและช่วงชิงพื้นที่ในการสื่อสารไปจากวัฒนธรรมตัวหนังสือ (Text Culture) ดังที่เคยเป็นมา และภาษาภาพซึ่งถูกนำมาใช้มากขึ้นนี้จำเป็นต้องมีการรื้อสร้าง ผ่านการอ่านและถอดระหัส ในการตีความเพื่อทำความเข้าใจสื่อ

จากการศึกษาวัฒนธรรมทางสายตา ได้มีการนำเสนอวิธีการอ่านและการตีความภาพแบบคร่าวๆ เอาไว้คือ การนำเอาศาสตร์ที่เรียกว่า Semiotics (สัญศาสตร์) มาใช้ในการทำความเข้าใจภาพ เครื่องหมาย และสัญลักษณ์ ส่วน Visual literacy หมายถึง การอ่านภาพ หรือ Image reading ไม่ใช่แค่มองเห็นภาพ แต่ต้องอ่านให้ออกและถอดระหัสสารที่ส่งมากับภาพได้ ซึ่งเป็นหลักการที่ประยุกต์มาจากนักภาษาศาสตร์ชาวสวิสส์ ชื่อว่า แฟร์ดิน็อง เดอ โซซู (Ferdinand de Saussure ) ที่แบ่งการวิเคราะห์ด้านภาษาออกเป็น 2 ส่วน
- ส่วนแรกเรียกว่า Signifier ถ้าเป็นภาษาเท่ากับ Word
- อีกส่วนเรียกว่า Signified เท่ากับ Concept ของคำ
เช่น คำว่า "ค้อน"จะไม่มีความหมาย ถ้าไม่บวกเข้ากับ concept. "ค้อน"คำเดียวจะไม่มีความหมายจนกว่าจะรวมกับ Concept ของคำว่าค้อน

นักทฤษฎีด้าน Visual Culture ได้ประยุกต์คำว่า Signifier มาใช้กับ Image คือ ภาพ, ส่วน Signified เท่ากับ Meaning หรือ Concept ได้แก่ แนวคิด/มโนทัศน์ที่มีความหมายของภาพ กล่าวคือ เมื่อเรามองเห็นภาพค้อนจะรู้ทันทีว่าค้อนใช้ทำหน้าที่อะไร นอกจากนี้ ภาพเดียวกันอาจมีความหมายซ้อนทับในเชิงมายาคติเข้าไปอีกชั้นหนึ่งก็ได้ ซึ่งทำให้การถอดความหมายและการตีความเป็นเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ภาพของค้อนในสมองกับความหมายของคำว่าค้อน จึงไม่ใช่ภาพของความเข้าใจที่ง่ายๆ ธรรมดาอีกต่อไป

(ผู้สนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ อาจดูเพิ่มเติมได้จากงานเรื่อง "มายาคติ" สรรนิพนธ์จาก Mythologies ของ Roland Barthes โดย วรรณพิมล อังคศิริสรรพ / แปลจากภาษาฝรั่งเศส)

ปล. ถ้าใครอ่านบทความนี้ได้จนจบ ส่งเสียงมาหน่อยนะครับ.. อยากรู้จักจิงๆอ่ะนะ

5 ความคิดเห็น:

SUKRITTA กล่าวว่า...

"วัฒนธรรมทางสายตา " ขึ้นอยู่กับความเข้าใจของคนในท้องที่ใดท้องที่หนึ่ง ถ้ามีผู้ที่อยู่ในท้องถิ่นมากสัญลักษณ์ในท้องถิ่นนั้นก็จะกลายเป็นสากลใช่อ่ะป่าวค่ะ

samrett_(ponk) กล่าวว่า...

อืมม เป็นความคิดเห็นที่น่าสนใจนะ

ก่อนอื่น ขอเคลียร์ถ้อยคำที่เขียนไว้ซะก่อน แยกเป็น 2 ตอนนะครับ ตอนแรก "วัฒนธรรมทางสายตา " ขึ้นอยู่กับความเข้าใจของคนในท้องที่ใดท้องที่หนึ่ง
ตอนที่ 2 ...ถ้ามีผู้ที่อยู่ในท้องถิ่นมากสัญลักษณ์ในท้องถิ่นนั้นก็จะกลายเป็นสากล และคำถามชวนอภิปราย ... ใช่อ่ะป่าวค่ะ

วัฒนธรรมทางสายตา ขึ้นอยู่กับความเข้าใจของคน ..ข้อความนี้เป็นจริง เพราะสิ่งที่เห็นทางสายตาและได้สืบเนื่องส่งต่อกันมาจนเป็นวัฒนธรรมนั้น เป็น "สาร" ที่ต้องมีผู้รับสาร ซึ่งจะเข้าใจสารนั้นได้ก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ในการรับรู้ของผู้รับสาร ส่วนคำขยายว่า คนในท้องที่ใดท้องที่หนึ่ง อันนี้ผมตีความว่าคงหมายถึง กลุ่มชนกลุ่มหนึ่งซึ่งมีที่อาศัยใกล้เคียงกัน เช่น กลุ่มสังคมหนึ่ง หมู่บ้านหนึ่ง ตำบลหนึ่ง อำเภอหนึ่ง เมืองหนึ่ง ประเทศหนึ่ง ภูมิภาคหนึ่ง ขึ้นกับขอบเขตที่จะกล่าวถึงต่อไป

ท่อนที่ 2 ถ้ามีผู้ที่อยู่ในท้องถิ่นมาก .. ตีความว่าคงหมายถึงปริมาณของกลุ่มชนในขอบเขตดินแดน (ท้องถิ่น)นั้น ...สัญลักษณ์ในท้องถิ่นนั้นก็จะกลายเป็นสากล คำว่า สากล คงหมายถึง เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ตรรกะ (เหตุผล)นี้ ไม่ถูกต้องเสียทั้งหมด แต่ก็มีเรื่องชวนให้พูดคุย

นั่นคือ ปริมาณของกลุ่มชน เกี่ยวข้องกับพลังอำนาจในการสื่อสารอย่างไร คนมาก-พลังก็มาก อันนี้เป็นเงื่อนไขโดยตรง แต่..ก็มีอีกเงื่อนไขคือคุณภาพ ดังเช่นว่า คนมาก แต่พูดค่อย พูดแต่ละทีเหมือนกระซิบกระซาบ ไม่ค่อยมีใครได้ยิน กับคนไม่มาก แต่พูดเสียงดัง พูดแต่ละคราวคนทั่วโลกได้ยิน ใน 2 กรณีนี้แน่นอนว่ากลุ่มหลังมีพลังอำนาจในการสื่อสารมากกว่า อันนี้เป็นการอุปมาอุปไมยนะครับ ซึ่งถ้าเปลี่ยนคำว่าพูด เป็นทำให้เห็น ก็จะตรงกับเรื่องวัฒนธรรมทางสายตา

เช่นนี้ เราพอจะเห็นว่า ปริมาณคน เป็นเงื่อนไขหนึ่ง คุณภาพในการสื่อสาร เป็นอีกเงื่อนไขหนึ่ง ซึ่งเกื้อหนุนกันให้เกิดพลังของการสื่อสาร จะมีปริมาณอย่างเดียวก็ไม่ได้ จะต้องมีคุณภาพด้วย

อีกประเด็นหนึ่ง คือในกระบวนการสื่อสารจนเกิดเป็นวัฒนธรรมทางสายตา มี 3 องค์ประกอบที่สำคัญคือ ผู้ส่งสาร ตัวสาร และผู้รับสาร ความเป็นสากลของตัวสาร นอกจากเริ่มที่ปริมาณและคุณภาพของผู้ส่งสาร ตัวสารที่จะสื่อออกไปแล้ว เงื่อนไขของผู้รับสารที่เป็นผู้รับรู้ปลายทางก็สำคัญด้วย (ในการจะทำให้เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง..เป็นสากล)

ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม คือ กรณีอเมริกา กับจีน จำนวนประชากรนั้นจีนมากกว่ามาก ในขณะที่พื้นที่ของ 2 ประเทศนี้ ก็กว้างขวางเป็นอันดับต้นๆ ของโลก (จีน มีพื้นที่ 9.596 ล้านตารางกิโลเมตร ประชากร 1,321 ล้านคน, อเมริกา มีพื้นที่ 9.631 ล้านตารางกิโลเมตร ประชากร 301 ล้านคน) สำหรับผู้รับสารชาวไทยซึ่งเข้าใจภาษาอังกฤษได้มากกว่าภาษาจีน เห็น “ความเป็นอเมริกัน” ผ่านหนังฮอลลีวู๊ด มิวสิควิดีโอในช่อง Mtv ดูแมกกาซีนจาก Wallpaper ท่องเน็ตด้วยการเสิร์จภาษาอังกฤษ พลังของการสื่อสารที่มีต่อกลุ่มผู้รับสารนี้ ย่อมชัดเจนว่าสำหรับเรา...อเมริกันคือสากลมากกว่าจีน เป็นต้น

คงมีเงื่อนไขอื่นๆ อีก ที่น่าจะคุยกันต่อไป.. เช่น ผู้ที่อยู่ในท้องถิ่นที่ว่ามากนั้น เป็นผู้ส่งสาร หรือเป็นผู้รับสาร หรือเป็นทั้งผู้ส่งและผู้รับ ถ้าเขาเป็นผู้ส่ง..ส่งไปให้ใคร ..กระบวนการเกิดขึ้นอย่างไร สารนั้นจึงเป็นสากล ..ฯลฯ ตอนนี้ขอพักไปจิบเก๊กฮวย แทะเฟรนซ์ฟราย (การทอดมันฝรั่งแบบฝรั่งเศสที่กลายเป็นอเมริกันไปเรียบร้อย) พลางๆ ก่อน อิอิ

I am pop กล่าวว่า...

ขอเพิ่มเติมอย่างง่ายๆเลยนะค่ะ สัญญะ ที่ท้องถิ่นหนึ่ง ประเทศหนึ่ง ใช้นั้นบางอย่างเป็นการเข้าใจและยอมรับกัน ซึ่งท้องถิ่นอื่น ประเทศอื่นหรือที่ซึ่งมีความแตกต่างกันทางวัฒนธรรม อาจจะไม่เข้าใจ ยอมรับไม่ได้ หรืออาจใช้เหมือนกันแต่ต่างความหมายโดยสิ้นเชิง...โห..จะยิ่งงงมั้ยค่ะเนี่ย..ไว้เดี๋ยวถามกันในห้องดีมั้ย:)

bact' กล่าวว่า...
ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ
bact' กล่าวว่า...

สำหรับคนที่สนใจการตีความ
ชวนไปงาน ReadCamp ครับ

"ทุกอย่างอ่านได้"

29 พ.ย. 51 @ หอศิลป์กรุงเทพ (ตรงข้าม MBK)

http://readcamp.org/

ชวนเพื่อน ๆ ไปด้วยครับ สนุก ๆ :)


View My Stats