วันจันทร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2550

บันทึกความทรงจำเรื่องการสุ่มเลือก (1)



เมื่อสัปดาห์ก่อน ได้ดูภาพยนตร์เรื่อง The Last King of Scotland เป็นภาพยนตร์ที่อิงชีวประวัติของอิดี้ อามิน จอมเผด็จการแห่งอูกานดา ผ่านบันทึกของหมอประจำตัวของเขา หมอคนนี้เพิ่งจบแพทย์สดใหม่ และคิดจะเผชิญโลกด้วยการทำงานแพทย์อาสาสมัครที่ใดที่หนึ่งในโลกใบนี้ วิธีที่เขาสุ่มเลือก คือการหลับตา หมุนลูกโลกจำลอง แล้วเอานิ้วจิ้มลงที่ใดสักแห่งบนลูกโลกทรงกลมที่วิ่งด้วยความเร็ว ..แม้กระนั้นก็ตาม เขาไม่พอใจกับผลการสุ่มเลือกครั้งแรก จึงตัดสินใจทำซ้ำอีกครั้ง แล้วครั้งนี้ ผลลัพธ์คือ อูกานดา ดินแดนที่ทำให้ชีวิตของเขาผันแปรไปไม่รู้ลืม...

ในประเด็นเรื่องการสุ่มเลือก การตั้งเงื่อนไขและวิธีการย่อมมีผลต่อคำตอบที่ได้รับ ผู้สุ่มเลือกเที่ยงธรรมหรือลำเอียง เคารพหรือแหกกฎ พอใจหรือไม่พอใจ จนถึงยอมรับหรือไม่ยอมรับ กระบวนการทั้งหมดนี้ อย่างน้อยที่สุดก็สะท้อนถึงความคิดของเขาต่อประเด็นที่เขาตั้งขึ้นอย่างหลีกหนีไม่พ้น

บางทีเสน่ห์ของการสุ่มเลือก ก็คือการที่มิอาจคาดเดาผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นได้ รสชาติทางความรู้สึกคล้ายกับการรอลุ้นระทึก ซึ่งขึ้นอยู่กับระดับของความคาดหวัง เช่นนี้เราจะเรียกได้ไหมว่าการกำหนดกติกาและกระบวนการสุ่มเลือก เป็นการออกแบบในลักษณะหนึ่ง เป็นความบังเอิญที่มิใช่อุบัติเหตุ เป็น"โอกาส"ของความเป็นไปได้ที่ปราศจากเจตจำนงสรรแต่ง เป็นความน่าสนใจของสิ่งที่คาดหมายไม่ได้

ไม่มีความคิดเห็น:


View My Stats